เข้าสู่ปลายฤดูใบไม้ร่วงและย่างเข้าฤดูหนาว อากาศที่หนาวเย็นและแห้งทำให้คนญี่ปุ่นป่วยเป็นไข้ได้ง่าย
มารู้จัก 6 สุดยอดผลไม้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวที่นักจัดอาหารญี่ปุ่นแนะนำว่า
ควรรับประทานเป็นประจำเพื่อความงามและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงกันค่ะ
1.ลูกพลับ (柿, Kaki)
ลูกพลับ 100 กรัมมีวิตามินซี 70 มิลลิกรัม หากรับประทานลูกพลับเพียงแค่ 2/3 ผล
ก็จะทำให้ได้รับปริมาณวิตามินซีประมาณ 100 มิลลิกรัมซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ในแต่ละวัน อีกทั้งลูกพลับยังอุดมไปด้วยสารประกอบ บีต้า คริปโตแซนทิน (β-Cryptoxanthin)
ในปริมาณ 500 ไมโครกรัมต่อลูกพลับ 100 กรัม สารชนิดนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
ซึ่งช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
และโรคมะเร็ง เป็นต้น อีกทั้งยังอุดมไปด้วยบีต้า แคโรทีน (β-carotene) ในปริมาณ 420 ไมโครกรัม
ต่อลูกพลับ 100 กรัม ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกายและมีบทบาทสำคัญ
ในการเสริมสร้างแข็งแรงของเยื่อเมือก ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงและทำให้ผิวพรรณสวยงาม
2.องุ่น (ぶどう, Budou)
องุ่นเป็นผลไม้ที่เก็บเกี่ยวได้มากในช่วงตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน
ผิวเปลือกขององุ่นยิ่งเข้มยิ่งอุดมไปด้วยโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง
ช่วยชะลอความแก่และป้องกันโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน
3.แอปเปิ้ล (りんご, Ringo)
แอปเปิ้ลอุดมไปด้วยน้ำตาลฟรุกโตสซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคสและพลังงานให้แก่ร่างกาย
โดยไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สารโปรไซยานิดิน (Procyanidin)
ซึ่งเป็นหนึ่งในสารโพลีฟีนอลที่มีปริมาณถึงร้อยละ 60 ของสารประกอบโพลีฟีนอลในแอปเปิ้ล
สารชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันการดูดซึมของไขมันเข้าสู่ร่างกาย
ช่วยลดไขมันส่วนเกินที่หน้าท้อง ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดี
และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ นอกจากนี้แอปเปิ้ลยังอุดมไปด้วยเพคติน
ซึ่งเป็นเส้นใยอาหารที่ช่วยส่งเสริมการทำงานที่ดีของลำไส้ ช่วยให้ขับถ่ายคล่อง
และป้องกันอาการท้องผูก ด้วยว่าสารประกอบโพลีฟีนอลและเพคตินส่วนใหญ่จะอยู่ที่เปลือกของแอปเปิ้ล
การรับประทานแอปเปิ้ลทั้งเปลือกจะทำให้ร่างกายได้รับโพลีฟีนอลและเพคตินในปริมาณสูงสุด
4.ส้มคินคัง (キンカン, Kinkan)
ส้มคินคังหรือในอีกหลายชื่อได้แก่ ส้มคัมควอท (Kumquat) ส้มกิมจ้อ หรือส้มเปลือกหวาน
เป็นส้มขนาดเล็กที่รับประทานได้ทั้งเปลือก ผิวเปลือกส้มมีกลิ่นหอมขึ้นจมูกเล็กน้อย
แต่เมื่อรับประทานเข้าไปจะมีรสชาติอร่อยจากรสหวานและเปรี้ยวอย่างลงตัว
ส้มคินคังอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งช่วยให้ร่างกายสร้างโปรตีนคอลลาเจน
ซึ่งเป็นองค์ประกอบของผิวหนังได้ดี ทำให้ผิวหนังแข็งแรงและสวย
อีกทั้งยังช่วยให้เนื้อเยื่อเมือกที่บริเวณคอและจมูกแข็งแรง
ทำให้ยากต่อการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย นอกจากนี้สารเฮสเพอริดินซึ่งมีมากที่ผิวส้ม
จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือด ลดคอเลสเตอรอลในเลือด
เสริมการไหลเวียนที่ดีของเลือด ป้องกันโรคภูมิแพ้ และช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เป็นต้น
5.กีวี (キウイフルーツ, Kiuifurutsu)
ในญี่ปุ่นนอกจากจะมีกีวีนำเข้าจากต่างประเทศที่ให้หาซื้อมารับประทานได้ตลอดทั้งปีแล้ว
ก็มีกีวีรสชาติอร่อยที่ผลิตได้ในประเทศตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนธันวาคม
กีวีอุดมไปด้วยเอนไซม์โปรติเอสที่เชื่อว่า แอคตินิดิน (Actinidin) ซึ่งช่วยย่อยโปรตีนที่รับประทานเข้าไป
อีกทั้งกีวี 100 กรัมมีวิตามินซี 69 มิลลิกรัม และมีกรดโฟลิกซึ่งจำเป็นสำหรับ
หญิงมีครรภ์ถึง 35 ไมโครกรัม นอกจากนี้กีวียังเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ
(46-52 กิโลแคลอรี่ต่อกีวี 1 ผล) ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำหนักหากอยากรับประทานกีวีมากกว่า 1 ผล
6.ส้มมิคัง (みかん, Mikan)
ส้มหรือมิคังอุดมไปด้วยวิตามินซีซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและผิวหนัง
สารประกอบบีต้า คริปโตแซนทิน (β-Cryptoxanthin) ในปริมาณที่สูง
(1,700 ไมโครกรัมต่อส้มมิคัง 100 กรัม) สารชนิดนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกาย
ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของเยื่อเมือก ส่งผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
อีกทั้งยังช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ เบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
และความผิดปกติของไต เป็นต้น นอกจากนี้กากใยสีขาวหรือเยื่อสีขาวบนเนื้อส้มนั้นอุดมไปด้วยวิตามิน P
ซึ่งช่วยเสริมการดูดซึมวิตามินซีเข้าสู่ร่างกายได้ดี โดยวิตามินชนิดนี้จะมีอยู่ในกากใยสีขาว
ในปริมาณที่มากกว่าเนื้อส้มถึง 300 เท่า ดังนั้นวิธีการรับประทานส้มเพื่อให้รับประโยชน์ต่อร่างกายสูงสุดคือ
รับประทานเยื่อสีขาวไปพร้อมกับเนื้อส้ม ในช่วงฤดูหนาวญี่ปุ่นเป็นช่วงที่อากาศแห้งทำให้เกิดการเจริญ
และแพร่กระจายของไวรัสได้ดี ส่งผลให้ป่วยได้ง่าย การรับประทานผลไม้ที่อุดมไปด้วยคุณค่า
สารอาหารจึงอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงของคนญี่ปุ่น
ขอขอบคุณข้อมูล :hitoshia sanook