อยากผอมต้องทำยังไง? แน่นอนว่าถ้ายิงคำถามดังกล่าวออกไปใส่คนรอบข้าง
คำตอบที่ได้คงไม่พ้น “กินน้อย ๆ ออกกำลังกายเยอะ ๆ” แน่นอน และคนส่วนมากก็ต้องคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ผลที่ตามมาก็คือเกิดไฟลุกในใจ ลุกขึ้นไปออกกำลังกายอย่างหักโหมและหนักหน่วง
ความฟิตเต็มร้อย แต่แล้ว…ทำไมไม่ผอมสักทีนะ?
บทความนี้เราจะมาดูกัน 4 สาเหตุ ทั้งที่ออกกำลังกายอย่างหนักแล้ว แต่ทำไมไม่ผอมสักที?
1.เครียดเกินไป ให้ความสำคัญกับตัวเลขบนตราชั่งเพียงอย่างเดียว
ความเครียดเป็นสาเหตุในการกระจายตัวของไขมัน อีกทั้งส่งผลถึงความอยากอาหาร
หากคุณเครียดกับตัวเลขบนตราชั่งมากเกินไป ผลที่ตามมาก็คือต้องกินเพื่อคลายเครียด
พอกินก็น้ำหนักขึ้น พอน้ำหนักขึ้นก็เครียด เครียดแล้วก็กินต่อ สุดท้ายก็ตะบะแตก
เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเราจริงจังกับการลดน้ำหนักเราจะต้องชั่งน้ำหนักแทบจะตลอดเวลา
บางคนชั่ง เช้า-กลางวัน-เย็น-ก่อนนอน มันไม่ใช่เรื่องผิดเพราะมันหมายถึงว่าคุณมีความตั้งใจมาก
แต่บางอย่างที่มากเกินไปก็อาจจะส่งผลในทางตรงกันข้าม และที่สำคัญ “น้ำหนักมันก็แค่ตัวเลข”
ควรให้ความสำคัญกับรูปร่างของตนเองเป็นหลักมากกว่า อาจจะถ่ายรูปไว้ในวันแรกของการออกกำลังกาย
ผ่านไปหนึ่งเดือนค่อยนำรูปถ่ายมาเปรียบเทียบ ส่วนเรื่องส่องกระจกดูรูปร่างก็แค่ตอนอาบน้ำก็พอแล้ว
ถ้ารูปร่างเราดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องไปสนใจตัวเลขบนตราชั่ง เพราะ กล้ามเนื้อหนักกว่าไขมัน
บางทีคุณอาจจะน้ำหนักเท่าเดิมแต่รู้สึกว่าผอมลง นั่นหมายความว่าคุณมีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น
ไขมันลดลง และกล้ามเนื้อจะเป็นตัวช่วยเผาไขมันได้อย่างดี
หากเป็นเช่นนั้น คุณจงทำต่อไปจนกว่าจะได้รูปร่างที่พอใจ แต่ถ้ารู้สึกว่ามันไม่ใช่ก็ไปดูสาเหตุข้อต่อไปกันเลยครับ
2.วันนี้ก็ออกกำลังกายมาหนักแล้ว กินของอ้วน ๆ สักมื้อคงไม่เป็นไรมั้ง?
หากคุณคิดเช่นนี้อยู่ได้โปรดหยุดความคิดนั้นเสียเดี๋ยวนี้ รู้หรือไม่ว่าการที่เราออกกำลังกาย
ยกตัวอย่าง วิ่งจ๊อกกิ้ง 1 ชั่วโมง เราเผาผลาญได้ 300-400 แคลเลอรี่แล้วแต่น้ำหนักตัว
และมวลกล้ามเนื้อของแต่ละคน แต่มื้อหนึ่งโดยปกติเรารับประทานมากกว่าที่เผาออกไป
ยิ่งถ้าเป็นมื้อหลังจากออกกำลังกายเราจะรู้สึกหิวเป็นพิเศษ ทำให้เผลอกินเยอะมากกว่าเดิมโดยไม่รู้ตัว
ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเท่ากับว่า คุณกินมากกว่าใช้ และส่งผลให้เกิดไขมันสะสม วิธีแก้ปัญหามีอยู่ 2 ข้อ
1. คำนวณแคลเลอรี่ในแต่ละมื้อ สำหรับคนที่จริงจังมาก ๆ แต่อย่าเครียดจนเกินไป มิเช่นนั้นมันจะไปตรงกับข้อหนึ่งด้านบน
2. จัดให้มี Cheat meal หรือ Cheat day สัปดาห์ละ 1-2 วัน เพื่อกระหายความอยากอาหาร และเป็นการควบคุมระบบเผาผลาญให้คงที่ด้วย
*Cheat meal / Cheat day คือวันที่สามารถกินอะไรก็ได้เท่าไหร่ก็ได้ตามใจปาก แต่มื้ออื่น ๆ ต้องคุมมาดีจริง ๆ
3.ออกกำลังกายหนักมาก แต่อดมื้อเย็นหรือกินน้อยเกินไป
ข้อนี้อาจจะดูขัดแย้งกับข้อที่แล้วแต่มันเป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการลดน้ำหนักคือการกินน้อยจริง ๆ
บางคนอาจสงสัยว่า กินน้อยแล้วมันไม่ดีตรงไหน? น้ำหนักจะได้ลดลงไว ๆ ไง? ใช่ครับ
กินน้อยแล้วน้ำหนักลดไวก็จริง แต่ผลที่ตามก็คือ “ภาวะโยโย่เอฟเฟกต์”
ถ้าเป็นเช่นนั้นการลดน้ำหนักของคุณจะยิ่งยากขึ้นไปใหญ่
*โยโย่เอฟเฟกต์ คือภาวะที่น้ำหนักตัวขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างรวดเร็วไม่คงที่
เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อลดลงทำให้ระบบเผาผลาญเสียสมดุลจนเกิดไขมันสะสมได้ง่ายขึ้น
กินอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็อ้วนขึ้นได้ง่าย วิธีแก้ไข คือ รับประทานอาหารให้เพียงพอต่อร่างกาย
หากคำนวณแคลเลอรี่ก็ควรกะให้น้อยกว่าที่ใช้ 200-300 แคลเลอรี่ควบคู่กับการสังเกตุรูปร่างตนเอง
หากไม่ได้คำนวณอย่างน้อยก็ควรสังเกตุรูปร่างตนเองเป็นประจำ หากวันนี้รู้สึกตัวบวมก็ลดปริมาณอาหารลงเล็กน้อย
วิธีนี้จะใช้เวลานานสักหน่อยในการลดน้ำหนักแต่มันจะช่วยให้คุณมีรูปร่างที่ดีได้อย่างยั่งยืนแน่นอน
และก็อย่าลืมกำหนดวัน Cheat day อย่างที่กล่าวไปในข้อ 2 ด้วยล่ะ
4.ออกกำลังกายหนักมาก แต่พักผ่อนไม่เพียงพอ
ข้อนี้ก็ถือว่าสำคัญมาก ๆ เพราะการพักผ่อนไม่พอมีผลเสียมากมายกว่าที่คุณคิด อาทิเช่น
ไม่มีแรงสำหรับการฝึกในวันต่อไป อ่อนเพลียจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ความเครียดเพิ่มขึ้น
ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อไขมันสะสมในร่างกาย เพราะฉะนั้นเราควรออกกำลังกายแต่พอดี
และพักผ่อนให้เพียงพอ ควรหาการออกกำลังกายที่เราทำแล้วมีความสุข อย่างเช่น กีฬาที่ชอบ
โยคะ เข้าฟิตเนส เพื่อให้เรามีความสุขกับการออกกำลังกาย สิ่งที่ตามมาคือสุขภาพและรูปร่างที่ดีอย่างยั่งยืน
จากบทความข้างตนเป็น 4 สาเหตุที่ทำไมไม่ผอมสักทีทั้งที่ออกกำลังกายอย่างหนักแล้ว
ถ้าเพื่อน ๆ รู้สึกว่าตนเองตรงกับข้อไหนก็ลองปรับปรุงนะครับ ไม่ต้องรีบร้อน ค่อยเป็นค่อยไป
ลดน้ำหนักอย่างถูกวิธีไปเรื่อย ๆ รับรองว่าสุขภาพและรูปร่างที่ดีอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน สู้ ๆ นะครับทุกคน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก women.trueid.net