บำรุงสายตาด้วยวิตามินอะไรดี หลายคนอาจลืมเลือนไปค่ะว่าวิตามินบำรุงสายตามีวิตามินอะไรบ้าง
และแหล่งวิตามินบำรุงสายตาหาได้จากอาหารประเภทไหน ดังนั้นเพื่อความไม่มัว ไม่พร่าเลือนของสายตา
บำรุงสายตาด้วยวิตามินอะไรดีวิตามินบำรุงสายตามีอยู่หลายตัวด้วยกัน
โดยหน้าที่ของแต่ละวิตามินบำรุงสายตาก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันไปค่ะซึ่งสามารถจำแนกได้ ดังนี้
1. วิตามิน A
วิตามินเอเป็นวิตามินที่ช่วยบำรุงสายตาในส่วนการทำงานของจอประสาทตา
มีบทบาทสำคัญด้านการมองในที่มืด ซึ่งแหล่งอาหารที่มีวิตามินเอค่อนข้างสูง
จะอยู่ในอาหารประเภทผักใบเขียว เช่น ชะอม คะน้า ยอดกระถิน ตำลึง ผักโขม
ผักบุ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบวิตามินเอได้ในฟักทอง แครอท เสาวรส มะละกอ
มะม่วงสุก และตับหมูอีกด้วย
2. วิตามิน B
ไม่ใช่แค่ป้องกันโรคเหน็บชาหรือปากนกกระจอกเท่านั้น
แต่วิตามินบีก็มีส่วนสำคัญในการบำรุงสายตา โดยเฉพาะวิตามิน B1 และ B12
ซึ่งมีบทบาทในการชะลอการเกิดต้อกระจก
โดยแหล่งที่มีวิตามินบีอยู่มากก็ได้แก่อาหาร เช่น ตับ ไข่ เนื้อสัตว์ นมสด เป็นต้น
3. วิตามิน C
มีการศึกษาที่พบว่า วิตามินซีมีส่วนช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกได้
ด้วยสรรพคุณของสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยบำรุงหลอดเลือดฝอยให้แข็งแรง
ทำให้ส่งเลือดไปยังจอประสาทตาและเลนส์ตาได้ดีขึ้น
จึงช่วยชะลอความเสื่อมจากโรคต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อมได้
ทั้งนี้เราสามารถหาวิตามินซีได้จากผลไม้ ได้แก่ ฝรั่ง ส้ม สับปะรด
มะขามป้อม และผักอย่างพริกหวาน มะเขือเทศ กะหล่ำดอก รวมไปถึงบรอกโคลี
4. วิตามิน E
วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในเซลล์รับแสงที่จอประสาทตา
ช่วยปกป้องดวงตาจากแสงแดด และยังมีการศึกษาพบว่า
วิตามินอีมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคต้อกระจกได้
โดยแหล่งอาหารที่พบวิตามินอีอยู่มากก็ได้แก่ ข้าวกล้อง ถั่วเมล็ดแห้ง งา
ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ น้ำมันพืช น้ำมันดอกคำฝอย ข้าวโพด และถั่วเหลือง เป็นต้น
5. เบต้าแคโรทีน
สารต้านอนุมูลอิสระอย่างเบต้าแคโรทีน เป็นสารตั้งต้นของวิตามิน A
ดังนั้นนอกจากจะมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระแล้ว
เบต้าแคโรทีนยังช่วยในการมองเห็นในที่มืดเช่นเดียวกับคุณสมบัติของวิตามิน A
โดยเราสามารถรับเบต้าแคโรทีนได้จากแครอท มะละกอ ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง ผักบุ้ง เป็นต้น
6. ลูทีนและซีแซนทีน
ลูทีนและซีแซนทีนเป็นส่วนประกอบสำคัญที่พบในจุดรับภาพที่จอประสาทตาและเลนส์ตา
ทำหน้าที่ช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาไม่ให้ถูกทำลาย
โดยวิตามินทั้งสองชนิดนี้มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ
และจากการศึกษายังพบด้วยว่า ลูทีนและซีแซนทีนมีส่วนช่วยชะลอการเกิดต้อกระจก
และโรคจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งสามารถหาลูทีนและซีแซนทีนได้จากผัก-ผลไม้ที่มีสีเขียวเข้มและสีเหลือง
เช่น ผักคะน้า ปวยเล้ง ผักโขม บรอกโคลี ข้าวโพด และพบได้ในไข่แดง เป็นต้น
7. ซีลีเนียม
สารต้านอนุมูลอิสระอีกตัวหนึ่งที่พบได้มากในหอยนางรม หอยลาย ตับไก่ และ เมล็ดทานตะวัน
โดยซีลีเนียมมีส่วนช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกและมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
8. สังกะสี
สังกะสีมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน และจากการศึกษายังพบด้วยว่า
สารต้านอนุมูลอิสระในสังกะสีมีส่วนช่วยชะลอความเสื่อมของจอประสาทตาที่มีอาการอยู่แล้ว
ให้เกิดความเสื่อมช้าลง โดยแหล่งที่พบสังกะสี ได้แก่ หอยนางรม ตับ และ เนื้อสัตว์
9. โอเมก้า 3
กรดไขมันอย่างโอเมก้า 3 มีบทบาทสำคัญในการรักษาภาวะตาแห้ง
ซึ่งกรดไขมันโอเมก้า 3 พบได้มากในปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า
ปลาซาร์ดีน ปลากะพง ปลาช่อน และในผลไม้ เช่น กีวี เป็นต้น
10. เคอร์ซีทิน
สารเคอร์ซีทินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านความเสื่อมของจอประสาทตา
และป้องกันการเกิดโรคต้อหิน โดยเราสามารถหาแหล่งของเคอร์ซีทินได้ในหอมแดงเลยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
Golden Place