8 ท่านอนที่ถูกต้อง หลับสบาย ไม่ปวดเมื่อย
ถ้าการนอนช่วยแก้ปัญหาสุขภาพได้ เรามาดูท่านอนที่ถูกต้องกันหน่อยดีกว่า ว่าการนอนแต่ละท่าช่วยอะไรเราได้บ้าง
มีใครเคยคิดไหมคะ ว่าท่านอนที่เรานอนอยู่ทุกวันมีดียังไง บางคนนอนดิ้น บางคนชอบนอนตะแคงทางซ้าย
บางคนชอบนอนตะแคงทางขวา แต่คงไม่มีใครนึกว่าท่านอนแต่ละท่าสามารถแก้ปัญหาสุขภาพของเราได้
วันนี้เราจะพาสาว ๆ ไปดูกันว่าท่านอนที่ถูกต้องแต่ละแบบ ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง อ่านต่อได้ที่
ท่าที่ 1 : นอนหงาย แก้ปวดคอ
ท่านอนหงายเป็นท่าเบสิกที่ทุกคนนิยมใช้กัน เพราะไม่ว่าจะนอนเล่นหรือนอนจริงจัง
ทุกคนมักเลือกนอนท่าที่ง่ายที่สุดนั่นคือการนอนหงาย การนอนหงายช่วยลดอาการปวดเมื่อยที่คอ
และป้องกันการเกิดกรดไหลย้อนได้ค่อนข้างดี แต่การนอนท่านี้ไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคปอดและโรคหัวใจ
เพราะท่านอนหงาย กะบังลมที่คั่นระหว่างช่องอกกับช่องท้องจะทับอยู่บนปอด
ทำให้การหายใจค่อนข้างลำบาก ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักมากยิ่งขึ้น
Tips : การนอนหงายจะดีก็ต่อเมื่อระดับของศีรษะ ลำคอ และหลังอยู่ในแนวตรง ฉะนั้นแนะนำให้เลือกหมอนที่ไม่สูงมาก
นอนเป็นแนวราบได้จะดีมาก ๆ เลยค่าา เหมาะกับใคร
: เหมาะกับสาว ๆ ที่ใส่ใจปัญหาเรื่องผิวพรรณและความงาม เพราะการนอนท่านี้จะช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยบนใบหน้าได้ดี
ท่าที่ 2 : นอนตะแคงทางซ้าย แก้ปวดหลัง
การนอนตะแคงไปทางซ้าย เป็นท่าที่ช่วยลดอาการปวดหลัง เพิ่มความดันในตับ ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
ตอนนอนควรมีหมอนข้างเอาไว้กอดและพาดขาข้างขวาด้วย เผื่อใครนอนท่านี้จนถึงตอนเช้าแบบไม่มีที่พาดขา
อาจทำให้เกิดอาการชาที่ขาข้างซ้ายได้ การนอนท่านี้จะทำให้หัวใจเต้นค่อนข้างลำบาก
ไม่เหมาะกับคนป่วยเป็นโรคปอดอีกเหมือนกัน เพราะปอดอยู่ข้างซ้ายการนอนตะแคงซ้าย
ทำให้ปอดของเราขยายตัวได้ไม่เต็มที่นั่นเองง
Tips : สาว ๆ ที่ชอบนอนตะแคงซ้าย ไม่ควรหนุนหมอนที่ต่ำจนเกินไปเพราะอาจทำให้ปวดต้นคอได้
และการหนุนหมอนที่มีความสูงเท่ากับความกว้างของบ่าซ้าย จะไม่ทำให้เราปวดคอจากการตกหมอน
เหมาะกับใคร : ท่านอนตะแคงทางซ้าย ใช้ได้กับคนที่ต้องการบรรเทาอาการปวดหลัง
ท่าที่ 3 : นอนตะแคงทางขวา ช่วยย่อยอาหาร
บอกเลยการนอนตะแคงทางขวาคือท่านอนที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับท่านอนอื่น ๆ เพราะการนอนท่านี้หัวใจจะเต้นสะดวก
อาหารจากกระเพาะจะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ไม่มีอะไรคั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานเกินไป
ยิ่งไปกว่านั้นการนอนท่านี้ยังช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ด้วย ที่สำคัญการนอนหันหน้าไปทางขวา
ไม่มีผลข้างเคียงต่อหัวใจกับปอด แต่ยังไงเราต้องระวัง ไม่ให้คนที่มีปัญหาเรื่องปอดนอนท่านี้นะจ๊ะ
Tips : สำหรับการนอนตะแคงไปทางขวา เราอยากให้สาว ๆ เลือกใช้หมอนที่ไม่ต่ำจนเกินไป เพราะอาจจะตกหมอนและคอเคล็ดได้
เหมาะกับใคร : การนอนท่านี้ใช้ได้กับทุกคนเลยค่ะ ยิ่งใครชอบกินอาหารตอนกลางคืนก่อนนอน การนอนท่านี้จะไม่ทำให้อาหารตกค้างอยู่ในกระเพาะ
ท่าที่ 4 : นอนขดตัว แก้นอนกรน
ใครจะคิดว่าการนอนขดตัวจะมีประโยชน์ใช่ไหมคะ ท่านอนขดตัวเราสามารถนอนหันไปทางซ้าย หรือหันไปทางขวาก็ได้
โดยเราจะงอหัวเข่าขึ้นมาชิดกับหน้าอกและก้มหน้า การนอนท่านี้ช่วยทำให้เรานอนกรนน้อยลง
และเป็นท่าที่เหมาะสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ เพราะท่าขดตัวจะทำให้เลือดไหลเวียนไปสู่ทารกได้ดี
และช่วยลดแรงกดทับของมดลูกที่อยู่ตรงบริเวณตับได้ อีกอย่างการนอนท่านี้ยังเหมาะสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์
หรือผู้ป่วยพาร์กินสัน เพราะมีงานวิจัยสนับสนุนว่าการนอนขดตัว ช่วยทำให้ของเสียจากสมองถูกกำจัดออกไป
จากระบบประสาทได้ดีกว่าการนอนหงายหรือนอนคว่ำ
Tips : การนอนท่านี้ไม่ควรนอนในระยะยาว เพราะอาจทำให้หายใจไม่สะดวก คนที่ชอบนอนท่านี้จึงควรยืดร่างกาย
หรือขยับไปนอนท่าอื่น ๆ เป็นระยะ ๆ
เหมาะกับใคร : ท่านอนนี้เหมาะสำหรับคนที่ชอบนอนกรน ผู้หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และผู้ป่วยพาร์กินสัน
ท่าที่ 5 : นอนตะแคงขวาและงอเข่า แก้ปวดไหล่
สาว ๆ ที่มีอาการปวดหัวไหล่ จากการยกของหนัก รวมไปถึงการสะพายหรือหิ้วกระเป๋าที่ใส่ของเยอะ ๆ เป็นประจำ
เราแนะนำให้นอนตะแคงไปทางขวา และงอเข่าขึ้นมาตามแบบในรูปเลยค่ะ การนอนท่านี้จะช่วยลดอาการปวดหัวไหล่ของเราได้
เพราะเรามีหมอนใบเล็กรองระหว่างแขนกับศีรษะของเราเอาไว้ ทำให้ไม่เกิดการกดทับหัวไหล่จากการนอนโดยตรง
ฉะนั้นมั่นใจได้ว่าการนอนท่านี้ จะไม่ทำให้เราปวดหัวไหล่มากกว่าเดิมแน่นอน
Tips : การนอนท่านี้ควรมีหมอนขนาดเล็ก 2 ใบเอาไว้สำหรับรองขาและแขน ที่สำคัญเราไม่แนะนำให้เลือกหมอนที่นิ่มจนเกินไปมาใช้
ควรเป็นหมอนที่มีความสูงเล็กน้อย เพื่อป้องกันการกดทับของศีรษะกับหัวไหล่
เหมาะกับใคร : ท่านอนท่านี้เหมาะกับสาว ๆ ที่มีอาการปวดหัวไหล่เป็นประจำ หรือใครที่ชอบสะพายกระเป๋ากับแขนข้างขวา ก็สามารถนอนท่านี้ได้
ท่าที่ 6 : นอนคว่ำหน้า ลดความดัน
หากใครรู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ต่อไปนี้เวลานอนลองหันมานอนท่าคว่ำหน้าดูสิคะ
เพราะนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นค้นพบว่า การนอนคว่ำหน้าจะช่วยลดความดันโลหิตสูง
ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี ป้องกันการนอนกรน และไม่ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก
อีกอย่างไม่ว่าจะนอนเล่นหรือนอนจริงจัง สาว ๆ ไม่ควรนอนราบไปกับพื้นเฉย ๆ
แต่ควรหาหมอนมาหนุนรองตรงหน้าอกของเราทุกครั้งที่นอนคว่ำด้วย
Tips : หากใครชอบนอนท่านี้เป็นประจำอยู่แล้ว แนะนำให้หาหมอนใบเล็ก ๆ มารองบริเวณกระเพาะอาหาร
และบริเวณอุ้งเชิงกราน เพื่อป้องกันการเจ็บกระดูกสันหลัง
เหมาะกับใคร : การนอนท่านี้ใช้ได้กับสาว ๆ ที่เป็นความดันโลหิตสูง หรือระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ท่าที่ 7 : นอนหงายมีหมอนเล็กรองคอ แก้ปวดหัว
เวลาตื่นเช้ามีใครชอบปวดหัวบ่อย ๆ บ้างคะ บางคนปวดหัวบ่อย ๆ ก็ไม่อยากกินยาทุกครั้ง เพราะป้องกันอาการดื้อยา
งั้นมาดูท่านอนที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวของเราได้กันหน่อยดีกว่าค่ะ สำหรับท่านอนหงายมีหมอนรองคอท่านี้
เป็นท่าที่ดีต่อกระดูกสันหลังและข้อต่อ ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวระหว่างนอน จนถึงตอนตื่นได้เป็นอย่างดี ใ
ครอยากลองนอนท่านี้เริ่มจากการเอาหมอนรองคอมาให้ใส่นอนดูก่อนก็ได้ค่ะ รับรองว่าตอนนอนเปลี่ยนท่าไม่ทำให้คอเคล็ดแน่นอน
Tips : สาวคนไหนไม่อยากใช้หมอนรองคอแข็ง ๆ ลองเปลี่ยนไปใช้หมอนใบเล็ก ๆ เอามาหนุนตรงลำคอแทนก็ได้จ้า
เหมาะกับใคร : เหมาะกับคนที่ชอบปวดหัวเวลาตื่นนอน หรือคนที่ชอบบิดคอไปมาเวลานอนแบบไม่รู้ตัว
ท่าที่ 8 : นอนหงายมีหมอนเล็กรองใต้เข่า แก้ปวดประจำเดือน
เวลารอบเดือนมาทีไรนอนลำบากเพราะปวดท้องทุกที เราเลยหยิบท่านอนที่ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนมาแนะนำจ้า
ท่านอนหงายมีหมอนใบเล็กรองใต้เข่าท่านี้ สามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนของสาว ๆ ได้ดี
เพราะท่านอนท่านี้ร่างกายของเราจะอยู่ในองศาที่สบายตัวที่สุด กล้ามเนื้อหน้าท้องก็จะอยู่ในลักษณะผ่อนคลาย
ทำให้อาการปวดประจำเดือนของสาว ๆ ลดลงไปได้ในระดับหนึ่งนั่นเอง
Tips : ห้ามลืมเอาหมอนมารองที่ใต้เข่าเด็ดขาด เพราะท่านอนหงายธรรมดากระดูกสันหลังจะอยู่ในลักษณะที่โค้งมากเกินไป
อาจทำให้เรายิ่งปวดท้องประจำเดือนมากขึ้นกว่าเดิมได้
เหมาะกับใคร : ท่านอนท่านี้เหมาะกับสาว ๆ ที่มีอาการปวดประจำเดือนจ้าา
เอาละค่ะ ! หลังจากที่รู้ไปแล้วว่าท่านอนแต่ละท่ามีประโยชน์ยังไงบ้าง ต่อจากนี้เวลานอนคงต้องเลือกกันหน่อยแล้วละว่าจะนอนท่าไหนดี
สำหรับบางคนอาจมีท่านอนที่คุ้นเคยทำให้ปรับตัวยาก แต่เราเชื่อว่าถ้านอนท่าใหม่เป็นประจำไปเรื่อย ๆ การเปลี่ยนท่านอนจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูล Wongnai Beauty